6 ข้อแนะนำ ยิงธนูท่ามกลางสภาวะลมแรง

ถ้าคุณพร้อมที่จะก้าวชั้นขึ้นยิงธนูในระดับที่สูงขึ้น คุณจะต้องรับมือกับ ‘ลม’ นี่คือข้อแนะนำ…

หนึ่งในความท้าทาย ยากระดับ 10 ของนักธนูหน้าใหม่ คือการยิงในสภาวะลมแรง Crystal Gauvin กล่าวว่าการยิงแข่งในรัฐเท็กซัสครั้งแรกของเธอ – หนึ่งในสนาม USAT Qualifier Series Tournaments และเป็นการยิง Tournament สนามกลางแจ้งครั้งที่สองของเธอ – เป็นการแข่งขันยิงธนูท่ามกลางลมแรงที่สุดเท่าเธอเคยประสพมา เธอเพิ่งซื้อลูกธนูอย่างดีและแพงที่สุดเพื่อมาแข่งรายการนี้ และเป็นกังวลมากว่าเธออาจจะยิงหลุดเป้าและทำลูกธนูหาย

ผลปรากฏว่า เธอยิงหลุดเป้าจริงๆ – ลูกธนู 8 ลูกไปเข้าเป้าถัดไป อย่างไรก็ตามความผิดพลาดย่อมก็เกิดขึ้นได้ มันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการยิงธนูและไม่จำเป็นที่จะต้องไปกลัวมัน ตั้งแต่วันนั้นมา เธอกลับรักที่จะยิงธนูท่ามกลางลมแรง เราจะเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความมั่นใจในการยิงท่ามกลางสภาวะลมแรงได้อย่างไร? นี่เป็นเกร็ดความรู้ 6 ประการของเธอ

จงเชื่อมั่นในการยิง และควรต้องดุดัน

ข้อแนะนำประการแรกสำหรับการยิงธนูในสภาวะลมแรงคือ ต้องมั่นใจ,เชื่อมั่น เมื่อมีลมแรงอย่ากลัวและมั่วแต่ตั้งคำถามต่างๆเยอะแยะไปหมด ให้จดจำขั้นตอนพื้นฐานการยิงธนูของตนเอง – กระบวนการ/วิธีปฏิบัติ ที่คุณใช้ยิงธนู เลือกจุดเล็ง และเชื่อใจมัน การแนะนำนี้ไม่เป็นเพียงแต่ใช้ได้กับนักธนูมือใหม่แต่ยังใช้ได้กับนักธนูที่มีประสบการณ์อีกด้วย นักธนูที่จะยิงในสภาวะลมแรงได้ ต้องเชื่อมั่นในวิจารณญาณของตนเองเรื่องความแรงของกระแสลม

ความเชื่อมั่นจะทำให้คุณยิงอย่างมั่นคง เด็ดเดี่ยว ซึ่งจะเป็นผลดีกับคุณใน 2 ประการ ประการแรกถึงแม้จะมีลมกรรโชกลูกธนูที่พุ่งไปในอากาศ แต่มันจะส่งผลกระทบน้อยลงถ้าหากผู้ยิงปล่อยสายยิงได้อย่างเด็ดขาด เข้มแข็ง ตรงกันข้ามกับการปล่อยสายแบบเหลาะแหละ ลังเล จะส่งผลเสียมากกว่า ประการที่สอง คุณจะได้ผลตอบรับที่เที่ยงตรงแม่นยำกว่า ซึ่งจะช่วยทำให้คุณสามารถตัดสินใจได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณยิงอย่างมั่นคง เด็ดเดี่ยวและลูกปักเข้า 9 คราวนี้คุณจะรู้ได้ว่าต้องยิงชดเชยกระแสลมไปอีกแค่ไหน แต่ถ้าคุณยิงไม่เต็มกำลัง เหลาะแหละ คุณจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าลูกที่ปักเข้า 9 นั่นเป็นเพราะคุณปล่อยไม่ดี หย่อนไป หรือว่าเพราะกระแสลม คุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าลูกต่อไปคุณจะเล็งที่ตำแหน่งไหน

ใช้สิ่งที่คุณมี

ข่าวดี คือ มีสิ่งที่ช่วยในการวิเคราะห์กระแสลมหน้าเป้าในการแข่งขัน : ธงเล็กๆ ที่ปักอยู่ด้านบนของหน้าเป้าแต่ละอัน และยังมีถุงผ้าวัดทิศทางลม ซึ่งเป็นถุงยาว มีรูตรงด้านปลายอีกด้านขยับส่ายไปมาตามทิศทางของลมที่พัด

ข่าวร้าย คือ การจัดสนามแข่งไม่ได้มีข้อกำหนดว่าจะต้องมีจำนวนถุงผ้าวัดทิศทางลมไว้มากแค่ไหน เพื่อให้พอกับตำแหน่งของผู้ยิงแต่ละคนที่จะวิเคราะห์ลมได้ ธงผืนเล็กๆ ที่โบกสะบัดบนเป้าบางครั้งก็อาจหลอกเราได้ และไม่สามารถที่จะช่วยเราวิเคราะห์ความแรงหรือทิศทางของลมได้เสมอไป ถ้าเช่นนั้นคุณจะทำอะไรได้บ้าง? ข้อแรก ใช้ธงผืนเล็กๆ ที่โบกสะบัดนั่นแหละกำหนดทิศทางลม ใส่ใจกับสิ่งรอบข้างอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ – เช่น ต้นไม้, ป้ายโฆษณา, หรือแม้กระทั่งธงชาติ – ดูเพื่อเป็นเครื่องชี้นำความแรงของลม อีกทั้งการดูลูกธนูของคู่แข่งขันก็ยังสามารถใช้วิเคราะห์ได้ ดูว่าลูกธนูที่พุ่งไปปักเป้าข้างๆ เข้าตำแหน่งไหน และเวลาทุกวินาที ให้เราใช้ให้เต็มที่ทุกวินาที ยืนรอช่วงลมกรรโชกให้ผ่านไปแล้วค่อยทำการยิง ใช้เวลาเพิ่มอีกสัก 2 -3 วินาทีเหลือบตามองธง และพยายามกำหนดเวลาในวงรอบการยิงของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงลมกรรโชก

สร้างความแข็งแกร่งให้กับแกนลำตัว

ท่าออกกำลังกาย Plank ตามที่เห็นในรูป : Plank คือหนึ่งในวิธีที่ช่วยบริหารกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีทำท่า Plank นั้นไม่มีอะไรยาก แต่ข้อสำคัญคือต้องพยายามจัดวางท่าทางให้ถูกต้อง นอนคว่ำโดยให้หลังตรง เกร็งหน้าท้องและกล้ามเนื้อบริเวณก้น ทำครั้งละ 40-60 วินาที สัก 2 เซต

คุณควรจะปรับศูนย์เล็ง, เอียงคันธนู หรือ เล็งเผื่อ?

แชมป์โอลิมปิก Ki Bo Bae นักธนูของเกาหลี กำลังปรับศูนย์เล็ง ในสภาวะลมแรง ของการแข่งขัน World Archery Championships

 

ถ้าถามนักธนูระดับโลก 10 คน คุณก็จะได้คำตอบ 10 วิธีว่าพวกเขาจะปรับศูนย์เล็ง หรือเอียงคันธนู หรือเล็งเผื่อในทิศทางตรงกันข้ามกับลม ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเคล็ดลับของวิธีการยิงธนูเพื่อชดเชยแรงลม ในอีกนัยหนึ่ง ถ้าลมมาจากทางซ้ายพัดไปทางขวาและพัดให้ลูกธนูของคุณพุ่งเข้าเป้าออกไปทางขวา วิธีที่จะบอกต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณชดเชยซ้ายกับการเคลื่อนตำแหน่งตกไปทางขวาได้บ้าง  ลองดูว่าวิธีไหนเหมาะกับคุณ

โดยทั่วไป การปรับศูนย์เล็งใช้ได้กับกรณีที่ลมพัดแรงสม่ำเสมอ ค่อนข้างคงที่ มาในทิศทางเดียว ผู้ยิงมักจะเลือกใช้วิธีปรับศูนย์เล็งเมื่ออยู่ในสภาวะที่พอคาดคะเนลมได้ วิธีนี้ต้องให้ความสำคัญ ใส่ใจกับศูนย์เล็ง ในกรณีที่ลมหยุดหรือเปลี่ยนทิศทาง ยกตัวอย่าง ถ้าลูกธนูปักเป้าตำแหน่งออกไปด้านขวา คุณสามารถหมุนเพิ่มศูนย์เล็งให้กินไปทางขวา เพื่อชดเชยระยะที่แรงลมพัดไป แต่ขอย้ำอีกที ว่าวิธีนี้ใช้ได้ในกรณีที่ลมพัดแรงสม่ำเสมอ

นักธนูทั้งประเภทรอกทดกำลัง (Compound) และ ประเภทโค้งกลับ (Recurve) สามารถลองทำสิ่งที่เรียกว่า “เอียงคัน” หรือ“Canting” ในความเข้าใจ การถือคันเอียง – คันธนูประเภทโค้งกลับจะหันปลายลิ้มบนหันเอียงไปในทิศทางที่ลมมา – คันธนูประเภทรอกทดกำลังจะใช้วิธีที่เรียกว่า “Bubbling off” เนื่องจากบริเวณศูนย์เล็งของคันธนูประเภทรอกทดกำลังมักจะมีหลอดตัววัดระดับน้ำติดตั้งอยู่ตรงกลางขอบล่างศูนย์เล็ง ซึ่งผู้ยิงสามารถใช้ดูฟองอากาศเพื่อประคองให้คันธนูอยู่ในระนาบ หรือเอียงทำมุมมากน้อยตามที่ต้องการได้

สำหรับนักกีฬายิงธนูประเภทโค้งกลับ ข้อเสียเปรียบของการใช้วิธีนี้คือ จะได้ผลไม่แน่นอน แต่สำหรับคันธนูประเภทรอกทดกำลังซึ่งเพียงมองตำแหน่งของฟองอากาศในหลอดระดับน้ำเพื่ออ้างอิงว่าการถือคันธนูเอียงไปมากน้อยแค่ไหน ข้อได้เปรียบคือ ถึงแม้ฟองอากาศจะเคลื่อนที่ไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่ผู้ยิงก็ยังสามารถเล็งศูนย์เล็งผ่านจุดกึ่งกลางไปยังเป้าได้เสมอ เพียงแต่ต้องให้ความใส่ใจว่าฟองอากาศเคลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งไหน และทุกครั้งที่ยิงฟองอากาศก็ควรอยู่ในตำแหน่งนั้น เพื่อที่จะได้คงองศาของคันธนูที่เอียงไว้ให้คงที่

อีกหนึ่งของกลเม็ดเคล็ดลับที่มักใช้กันบ่อยในการรับมือกับสภาวะลมแรงคือ “เล็งออก” หรือ “Aiming off” หรือในความเข้าใจ “เล็งเผื่อ” ไปทางซ้ายหรือขวา หรือบน หรือล่าง จากจุดที่คุณต้องการที่จะให้เข้า เพื่อชดเชยกระแสลม ยกตัวอย่าง สมมติว่าลมมาทางซ้ายพัดไปขวา การเล็งเผื่อ คุณต้องเล็งออกจากจุดศูนย์กลางเป้ากินไปทางซ้ายมากหน่อย เผื่อระยะว่าลมจะพัดจากซ้ายให้ลูกธนูของคุณไปปักกลางเป้า วิธีนี้ทำให้คุณเล็งได้ค่อนข้างเที่ยงตรงใน แต่เคล็ดลับของการยิงคือต้องจบท่ายิง Follow through ไปยังทิศทางจุดที่คุณเล็งเผื่อด้วย ไม่ใช่โยกคันธนูกลับมายังกลางเป้าในช่วงเสี้ยววินาทีสุดท้าย

ฝึกซ้อม ฝึกซ้อม ฝึกซ้อม

ธงเล็กๆ เหล่านั้นบอกอะไรคุณ? การหัดอ่านธงเล็กๆ ที่ปักอยู่บนเป้า มันจะสามารถบอกคุณได้ว่าลมมีสภาวะอย่างไร – และคุณจะต้องทำอะไรกับมัน

ทางเดียวที่จะทำให้พัฒนาฝีมือการยิงให้ดีขึ้นได้ในสภาวะลมแรง คือต้องยิงในสภาวะลมแรง ควรเรียนรู้วิธีการที่คุณและลูกธนูของคุณจะรับมือกระแสลมที่พักแรงจากการลอง จากความผิดพลาดได้อย่างไร แทนที่จะเลี่ยงไม่ลงแข่งในสนามที่มีลมพัดแรง คุณควรหาสนามแข่ง หรือ สนามฝึกซ้อม ที่มีลมแรงเพื่อฝึกวิธีการยิง ถ้าหากคุณเคยยิงแต่สนามที่มีลมสงัด พัดเอื่อยๆ แนะนำให้ลองหาสนามที่มีความท้าทาย และเพิ่มความยากกับสนามที่มีลมจัด หาธงเล็กๆ ไว้ปักบนเป้าเมื่อคุณฝึกซ้อม หัดอ่านมัน หัวใจของการฝึกซ้อมในสภาวะลมจัดก็เพื่อคุณสามารถที่จะรักษาฟอร์มการยิงให้เสถียร มั่นคง ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร

คงจิตใจที่แข็งแกร่ง

สำหรับนักกีฬายิงธนู คุณจะต้องยิงได้ในทุกสภาพอากาศ ขึ้นอยู่กับคุณจะเตรียมตัวมาดีแค่ไหนเพื่อให้รักษาระดับคะแนนการยิงให้คงที่ ไม่ตกไป

ลมแรง ก็อาจจะทำให้คุณได้เปรียบคู่ต่อสู้ อย่างไรหรือ? ในขณะที่คู่แข่งมัวกังวลเรื่องลมที่พัดแรง แต่ถ้าคุณคุ้นกับการยิงในสนามที่มีกระแสลมคุณจะมั่นใจกว่า และสนุกกับการยิง

จงมองในแง่ดีและยอมรับความท้าทาย ลมแรงไม่ได้มีผลกับเพียงคนใดคนหนึ่ง มีผลเสมอภาคกับผู้เข้าแข่งขันทุกคน – ถึงแม้แต่ผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านศึกมามาก็ต้องได้ผลกระทบจากลมด้วยเช่นกัน การยิงธนูในสภาวะลมแรงต้องใช้สมาธิ ตั้งอกตั้งใจอย่างเต็มที่ 100% จนกระทั่งลูกธนูสุดท้ายถูกยิงออกไป ถ้าหากคุณยิงลูกไหนไม่ดี ให้สลัดความกังวลทิ้งไป ใส่ใจกับลูกที่เพิ่งหยิบมาวางกับสายธนูที่จะยิงต่อไป วิธีในการคิดของคุณอาจเป็นสิ่งที่ทำให้คุณได้เปรียบคู่ต่อสู้ได้เป็นอย่างยิ่ง

เรียบเรียงจากบทความของ Crystal Gauvin ลงใน Archery 360

error: เวปไซต์นี้ ป้องกันคัดลอกเนื้อหา !!